เขาชื่อ Bernard Madoff ตำนาน (บทใหม่) ฉ้อโกงสะท้านโลกโลกเหมือนติดกับดักอันใหม่ของทุนนิยมเสรี !!! แชร์ลูกโซ่ขนาดมหึมากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในสหรัฐ ถูกเปิดโปงออกมาอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 13 ธันวาคมที่ผ่านมา แรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ ไม่เพียงจะมาจากขนาดอันใหญ่โตของคดีต้มตุ๋นครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ธุรกิจ แต่ยังมาจากตัวละครสำคัญ หรือจะพูดให้ถูก คือ ตัวการที่หลอกลวง และตุ๋นเงินชาวบ้านนั้น เป็นเจ้าของธุรกิจ เป็นผู้จัดการกองทุน มีชื่อเสียง และเคยเป็นถึงประธานตลาดหุ้นแนสแดค
"เบอร์นาร์ด แมดอฟฟ์" อดีตประธานตลาดหุ้นแนสแดค สารภาพต่อคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ และหน่วยงานสืบสวนสอบสวนของสหรัฐ ว่า เขาฉ้อโกงประชาชน โดยโน้มน้าวให้เหยื่อมาลงทุนในลักษณะของ Ponzi Scheme Ponzi Scheme คือ พฤติกรรมการฉ้อโกงที่มีลักษณะเป็นแชร์ลูกโซ่ (ตั้งชื่อเลียนแบบชาร์ลส์ ปอนซี ชาวอิตาลีอพยพ ซึ่งเป็นต้นตำนานของคดีแชร์ลูกโซ่ในอดีต) โดยลูกค้าจะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากการลงทุนในอัตราสูงๆ หากสามารถหาลูกค้ามาลงทุนต่อเนื่องเป็นไปเรื่อยๆ บางครั้งเรียกการลงทุนในลักษณะนี้ว่า Pyramid Scheme คำสารภาพของแมดอฟฟ์ เป็นจุดเริ่มของการย้อนรอยคดีฉ้อโกงครั้งประวัติศาสตร์ ซึ่งสร้างมูลค่าความเสียหายให้กับนักลงทุน ซึ่งประกอบไปด้วยสถาบันการเงิน มูลนิธิ มหาเศรษฐี คนมีชื่อเสียง นักการเมือง หรือแม้กระทั่งเพื่อนสนิทมิตรสหายของแมดอฟฟ์เอง เป็นจำนวนประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
จากเอกสารของคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ระบุว่า การจับกุมแมดอฟฟ์ มีขึ้นหลังจากเจ้าหน้าที่จากสำนักสืบสวนสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือกับ พนักงานระดับอาวุโส คนที่ 1 และ 2 ซึ่งเป็นผู้แจ้งจับ และให้ข้อมูลการฉ้อโกงต่อทางการบลูมเบิร์ก ระบุว่า พนักงานระดับอาวุโสทั้งสอง คือ บุตรชายของแมดอฟฟ์เอง ชื่อ มาร์ก แมดอฟฟ์ และ แอนดรูว์ แมดอฟฟ์ โดยทั้งสองให้ข้อมูลว่า ประมาณสัปดาห์แรกของเดือนธันวาคม แมดอฟฟ์ได้เล่าให้พนักงานระดับอาวุโสคนที่ 2 ฟังว่า ลูกค้าจำนวนหนึ่งได้มาขอไถ่ถอนการลงทุนของพวกเขาก่อนกำหนด เป็นมูลค่ารวมกัน 7 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเขากำลังหา เงินมาคืนแก่ลูกค้า และคิดว่าคงจะหามาคืนได้ที่ผ่านมา พนักงานระดับอาวุโสเข้าใจมาโดยตลอดว่า ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการลงทุน ของแมดอฟฟ์เกี่ยวกับการบริหารสินทรัพย์ เป็นมูลค่าประมาณ 8 พันล้านดอลลาร์ หรืออย่างมากไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ จากนั้น วันที่ 9 ธันวาคม แมดอฟฟ์ได้บอกต่อพนักงานอาวุโสคนที่ 1 ว่า เขาต้องการจ่ายโบนัสในเดือนธันวาคม หรือเร็วกว่าปกติ 2 เดือน ซึ่งในอีก 1 วันถัดมาเจ้าหน้าที่อาวุโสทั้งสองได้มาพบแมดอฟฟ์ ที่ออฟฟิศของเขา ซึ่งจากคำให้การของ พนักงานอาวุโสทั้งสองบอกเล่าถึงท่าทางของแมดอฟฟ์ว่า มีอาการเคร่งเครียดกว่าสัปดาห์ก่อนที่ได้พบปะกัน แม้จะเอ่ยปากว่า ธุรกิจมีกำไรในช่วงที่ผ่านมา และต้องการแจกจ่ายผลกำไรออกไปเมื่อทั้งสองขอให้แมดอฟฟ์เล่ารายละเอียดของธุรกิจให้ฟัง แมดอฟฟ์ปฏิเสธที่จะพูดเรื่องนี้ในออฟฟิศ และขอให้ไปพบที่ อพาร์ตเมนต์ของเขาแทน ซึ่งที่นั่นเอง เขาได้ยอมรับว่าธุรกิจที่ปรึกษาการลงทุนของเขาเป็นแค่การต้มตุ๋น และทุกอย่างได้ ปิดฉากลงแล้ว เขายอมรับว่าเขาไม่มีอะไรเลย ทุกอย่างเป็นแค่การหลอกลวง โดยเขาเอาเงินจากนักลงทุนอีกคนหนึ่งมาจ่ายให้กับคนแรกๆ เป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกันไป ทำแบบนี้มานานหลายปีแล้วแมดอฟฟ์ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการต้มตุ๋นของเขาว่า น่าจะสูงถึงประมาณ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ขณะนี้เขามีเงินเหลืออยู่เพียง 200-300 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเขาต้องการแจกจ่ายให้กับพนักงาน ครอบครัว และเพื่อนๆ หลังจากนั้น แมดอฟฟ์ได้บอกต่อพนักงานอาวุโสคนที่ 3 ว่า เขาเตรียมจะมอบตัวต่อทางการ ภายใน 1 สัปดาห์........เมื่อเรื่องราวมาถึงบทอวสาน เหยื่อที่หลงคารมของแมดอฟฟ์ต่างทยอยเปิดเผยตัวออกมาสองสามวันแรก ชื่อกระจายอยู่ในหมู่เศรษฐี เพื่อนใกล้ชิด และมูลนิธิของคนยิว แต่เมื่อเวลาผ่านไปอีกไม่กี่วัน รายชื่อของธนาคารและสถาบันได้รับผลกระทบจากการลงทุนทางตรง และทางอ้อม อาทิ ผ่านกองทุนเฮดจ์ฟันด์ กองทุนแฟร์ฟิลด์ เซนทรี กองทุนบริหารแฟร์ฟิลด์ กรีนวิช กรุ๊ป ของวอลเตอร์ โนเอล หรือกองทุนคินเกต โกลบอล ฟันด์ เป็นต้นรายชื่อธนาคารที่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในกองทุนที่มีแมดอฟฟ์เป็นผู้จัดการกองทุน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ในสวิตเซอร์แลนด์ ที่เสียหายรวมกันประมาณ 2.5 พันล้านปอนด์ อาทิ กลุ่มยูบีเอส ธนาคารยูนิยง บองแคร์ ปรีเว และธนาคารเบเนดิกต์ เฮนช์ ตลอดจนธนาคารขนาดใหญ่ของยุโรปรายอื่นๆ ได้แก่ แซนแทนเดอร์ ของสเปน เสียหายเป็นตัวเลข 3.1 พันล้านดอลลาร์ บีเอ็นพี พาริบาส์ และนาติซิส ของฝรั่งเศส ได้รับผลกระทบ 460 ล้านดอลลาร์ และ 605 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ไม่เว้นแม้แต่โรยัล แบงก์ ออฟสกอตแลนด์ และ เอชเอสบีซี ของอังกฤษ โดยมียอดความเสียหายจากการลงทุนในกองทุนของแมดอฟฟ์เป็นมูลค่า 601 ล้านดอลลาร์ และ 1 พันล้านดอลลาร์ ตามลำดับชื่อเหล่านี้เป็นแค่หยิบมือหนึ่ง เพราะเมื่อตรวจสอบขยายผล พบว่าลูกค้าของแมดอฟฟ์นั้นมีมากมาย ทั้งในอเมริกาใต้ ตะวันออกกลาง และเอเชียสำหรับภูมิภาคเอเชีย โนมูระ โฮลดิงส์ ของญี่ปุ่น ยอมรับว่าลงทุน 302 ล้านดอลลาร์ ในกองทุนแมดอฟฟ์ ขณะที่ในเกาหลีใต้มีรายงานว่า มีสถาบันการเงินมากกว่า 10 แห่ง มีความเสี่ยงจากการลงทุนในกองทุนของแมดอฟฟ์ด้วย รวมถึงกลุ่มการเงินในไต้หวันอีก 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทประกันชีวิตในเครือคาเธ่ย์ ไฟแนนเชียล โฮลดิงส์ และกลุ่มฮอนไต ที่ได้รับ ผลกระทบจากคดีฉ้อโกงนี้เช่นกัน
แมดอฟฟ์ก่อตั้งบริษัทของเขาชื่อ เบอร์นาร์ด แอล แมดอฟฟ์ อินเวสต์เมนต์ ซีเคียวริตี้ส์ ในปี 2503 ก่อนที่จะได้ปีเตอร์ แมดอฟฟ์ น้องชาย ซึ่งสำเร็จด้านกฎหมายมาร่วมงานในปี 2513 จากชื่อเสียงอันโด่งดัง ในเวลาต่อมา แมดอฟฟ์ได้รับเลือกเป็นประธานตลาดหุ้นแนสแดค ในปี 1990 1991 และ 1993 อีกทั้งในช่วงทศวรรษ 1990 จนถึงช่วงต้นทศวรรษ 2000 แมดอฟฟ์ยังเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้านการค้าหลักทรัพย์ ของสมาคมอุตฯหลักทรัพย์ เป็นด่านหน้าแทนบริษัทโบรกเกอร์ในการเจรจากับคณะกรรมการกำกับดูแล ในประเด็นเกี่ยวกับ กฎเกณฑ์ใหม่ในตลาดหุ้น ในช่วงที่ระบบการซื้อขายหุ้นผ่านอิเล็กทรอนิกส์ และ เครือข่ายต่างๆ กำลังถูกนำมาใช้เพิ่มขึ้นบริษัทของแมดอฟฟ์มีบทบาทสูงในการพัฒนาตลาดให้กับหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นนิวยอร์ก โดยเฉพาะการเข้าไปซื้อขายในตลาดหุ้นแนสแดค แทนกระดานหลักของตลาดหุ้นนิวยอร์กตำแหน่งกิตติมศักดิ์ ตลอดจนประสบ การณ์และความสำเร็จทางธุรกิจของแมดอฟฟ์เสริมส่งให้เขาเป็นบุคคลที่มีบทบาทสูง และทรงอิทธิพลคนหนึ่งของตลาดหุ้นแนสแดคโดยไม่มีใครเฉลียวใจว่า ความมีชื่อเสียง และความน่าเชื่อถือของแมดอฟฟ์ คือตัวแปรสำคัญที่นำไปสู่การก่อกำเนิดของการฉ้อโกงครั้งมโหฬารของโลกในเวลาต่อมา เบาะแสของการกำเนิดแชร์ลูกโซ่ที่แมดอฟฟ์สร้างขึ้น อาจมีจุดเริ่มต้นที่ชื่อของแมดอฟฟ์เอง ดังที่ ไทมส์ ออนไลน์ ของอังกฤษ ตั้งข้อสังเกตถึงชื่อของเขา Madoff ซึ่งได้ฉายาในเวลาต่อมาว่า Made-off with ya money ซึ่งความสามารถที่จะทำกำไรจากเงินของนักลงทุนที่เอาให้เขาบริหาร โดยไม่มีใครรู้ว่าผลกำไรที่นักลงทุนได้รับอยู่นั้นมาจากเงินลงทุนของนักลงทุนรายใหม่ที่ถวิลหาผลตอบแทนสูงๆ เป็นตัวเลขที่เตะตา ในช่วงต้นปี 2551 เอกสารของคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ระบุว่า แมดอฟฟ์มีสินทรัพย์ ในการบริหารจัดการคิดเป็นมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ จากความไว้วางใจของลูกค้ามากหน้าหลายตา ทั้งที่เป็นกองทุนหลายสิบราย และนักลงทุนรายย่อย ที่เป็น ผู้มีชื่อเสียง นักการเมือง และมหาเศรษฐีหลายร้อยราย แชร์ลูกโซ่ของเขาใช้ชื่อเสียงของคนดัง สถาบันการเงิน และมหาเศรษฐี เป็นเครื่องมือในการสร้างกลุ่มนักลงทุนที่ต่อขยายออกไปเป็นลูกโซ่ หรือ Pyramid system ครอบคลุมตั้งแต่นิวยอร์ก จนถึงฟลอริดา มินนิโซตา และเทกซัส ชื่อของแมดอฟฟ์ที่บอกต่อแบบปากต่อปาก กลายเป็นทางเลือก "คนวงใน" ในหมู่นักลงทุน ที่ต้องการผลตอบแทนที่แน่นอนกลวิธีในการหาลูกค้าของแมดอฟฟ์ คือ การเข้าไปเจาะลูกค้าจากคลับไฮโซฯ หรือสโมสรของชนชั้นนำในสังคม และสร้างความน่าเชื่อถือ ด้วยการจัดทำนโยบาย "เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้น" มาเป็นสิ่งจูงใจนักลงทุนที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ เหตุผลที่ทำให้แมดอฟฟ์สามารถหาลูกค้าใหม่ให้กับเขาได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่พฤติกรรมฉ้อฉลของเขาจะถูกเปิดโปงไทมส์ ออนไลน์ ให้ข้อมูลด้วยว่า ลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่สุดของแมดอฟฟ์กลุ่มหนึ่งอยู่ในฟลอริดา ซึ่งที่นั่นเขาอาศัยสายสัมพันธ์ของกลุ่มเพื่อนฝูง ครอบครัว และเพื่อน นักธุรกิจในวงการเดียวกัน เป็นตัวต่อยอดเพื่อดึงดูดนักลงทุนนักลงทุนคนหนึ่งเล่าว่า หากคุณกำลังทานอาหารกลางวัน หรือเล่นกอล์ฟอยู่ ทุกคนที่อยู่รอบๆ จะพากันพูดถึงวิธีการที่แมดอฟฟ์ทำเงินให้พวกเขามาได้อย่างไร ซึ่งทำให้ทุกคนอยากจะเข้าไปร่วมลงทุนด้วย ขณะที่นักลงทุนอีกราย กล่าวว่า ลูกค้าของแมดอฟฟ์มักจะพูดแบบขำๆ ว่า หากเขาเป็นพวกต้มตุ๋น เท่ากับว่าเขากำลังโกงเงินของคนเกือบครึ่งโลกเลยทีเดียวนักลงทุนที่จะไปหาลูกค้ารายใหม่มาให้กับแมดอฟฟ์ จะสามารถอธิบายให้ลูกค้ารายใหม่ฟังถึงวิธีการที่แมดอฟฟ์ทำเงินได้อย่างคร่าวๆ ซึ่งหลังอธิบายจบ ลูกค้าจำนวนหนึ่งจะคล้อยตาม และอยากจะทำเงินเช่นนั้นบ้าง แต่บางคนอาจรู้สึกขัดแย้งว่า ยากจะเป็นไปได้ที่จะทำเงินได้จากวิธีการเช่นนั้น ซึ่งก็เป็นส่วนน้อยมากที่กระโจนหนี ด้วยเหตุนี้ วิธีการเลือกคนมาร่วม เป็นอีกจุดหนึ่ง ซึ่งแมดอฟฟ์ให้ความสำคัญ เขาจะไม่เลือกกลุ่มคนที่เป็นมืออาชีพและ หัวแข็งคล้อยตามยากอย่างไรก็ตาม พฤติกรรมฉ้อฉลแบบ แชร์ลูกโซ่มักจะมีจุดจบเหมือนกันทุกครั้งไป การใช้เงินต่อเงิน แมดอฟฟ์ดึงดูดนักลงทุนรายใหม่ที่ผลตอบแทนอัตราสูง เมื่อข้อต่อของนักลงทุนขาด หรือสิ้นสุดลง แชร์ลูกโซ่ก็มักจะล้ม เป็นสัจธรรม ลูกค้ารายใหม่ๆ มักจะเป็นกลุ่มที่เสียหายมากที่สุด ในกรณีของแมดอฟฟ์ นอกจากห่วงโซ่จะไม่สามารถต่อขยายไปได้อีก ยังมีกรณีที่ นักลงทุนกลุ่มสถาบันเริ่มสงสัยในพฤติกรรมการลงทุนของแมดอฟฟ์ และนำไปสู่การส่งเรื่องให้คณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สอบสวน ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบธุรกิจของแมดอฟฟ์ถึง 2 ครั้งในอดีต คือ ปี 2548 และปี 2550
แม้ ผลสรุปใน 2 ครั้งแรก ไม่พบพฤติกรรมที่ ผิดปกติ แต่นักลงทุนกลุ่มนี้หาได้ละความพยายามไม่........ในบันทึกการจับกุม เอฟบีไอระบุว่า แมดอฟฟ์สารภาพว่า ทุกอย่างเป็นความผิดของเขาแต่เพียงผู้เดียว และเขาไม่มีคำแก้ตัวใดๆ แต่ด้วยวงเงินการต้มตุ๋นนับหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ทำให้เจ้าหน้าที่จาก เอฟบีไอยากจะปักใจเชื่อได้ว่าไม่มีใครเอี่ยวในแชร์ลูกโซ่วงนี้เลยบุตรชายของเขา แม้จะมีการระบุว่าเป็นผู้แจ้งจับบิดาตนเอง แต่ก็มีแนวโน้มจะถูกสอบปากคำเพิ่มเติม เช่นเดียวกับรูท แมดอฟฟ์ ภรรยาของเขา รวมถึงบริษัทตรวจสอบบัญชีเล็กๆ ในนิวยอร์ก ซิตี้ ชื่อ ฟริชลิง แอนด์ โฮโรวิตซ์ ก็อยู่ตกเป็นเป้าการสอบสวนโดยอัยการแขวง ในร็อกแลนด์ เคาน์ตี้ ฐานละเมิดกฎหมายนิวยอร์ก นอกเหนือจากประเด็นผู้สมรู้ร่วมคิดแล้ว ปริศนาสำคัญของคดีแมดอฟฟ์ยังอยู่ เงินที่ฉ้อโกงอยู่ที่ไหน แมดอฟฟ์บริหารสินทรัพย์อย่างน้อย 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ แต่ก่อนถูกจับ เขาระบุว่ามีเงินเหลืออยู่เพียง 200-300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ประเด็นสงสัยหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ตั้งไว้คือ อาจจะมีเงินบางส่วนซุกอยู่ในบัญชีในต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบบัญชีแมดอฟฟ์ บัญชีของบริษัท และบัญชีบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบว่าเส้นทางเงินมีการถ่ายโอนเงินออกนอกประเทศหรือไม่ระหว่างที่รอการไขปริศนา แมดอฟฟ์ได้รับการประกันตัวแล้ว ด้วยหลักทรัพย์ประกัน 10 ล้านดอลลาร์ พ่วงเงื่อนไขที่เขาจะต้องปฏิบัติตามอีก 3-4 ข้อ นั่นคือ ถูกกักขังอยู่ในบ้านพัก มอบพาสปอร์ต ให้กับทางการ ยอมสวมอุปกรณ์ติดตามอิเล็กทรอนิกส์ไว้กับตัว และที่สำคัญ เขาจำกัดเวลาการออกนอกบ้านไม่เกิน 1 ทุ่มหากเจ้าพ่อแชร์ลูกโซ่อเมริกันหลบหนี ภรรยาของเขาคือหลักประกันต่อไป เพราะเธอได้มอบพาสปอร์ตไว้แก่ตำรวจเช่นกัน